คำถามที่มีคือ เราเรียนรู้อะไรบ้างจากเรื่องขำขัน เราเรียนรู้ได้ไหม เรารื้อถอนหรือประกอบสร้างจากเรื่องเหล่านั้นได้หรือไม่
เรื่องขำขันทั้งหลายมักให้รายละเอียดเพื่อสร้างสภาพแวดล้อม ให้เหตุการณ์ที่เป็นไป ให้ถ้อยคำที่ชักจูงให้คิด แล้วหักมุมไปในทางที่บางครั้งก็คิดได้ บางครั้งก็ไม่ได้คิด แล้วสร้างความกระแทกใจที่ไม่คาดคิด เรื่องทั้งหมดทั้งปวงจะอยู่ในสภาพนี้
แล้วเราเรียนรู้อะไรได้บ้าง
ถ้าการเรียนรู้มาจากภายใน เราเรียนรู้จากสิ่งที่เรามี เราเป็น แล้วกำหนด(ตัดสิน)ว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น นั่นคือเราเรียนรู้จากเหตุผล แต่เหตุผลไม่ใช่สิ่งเดียวที่กำหนดการเรียนรู้ของเรา เราเรียนรู้จากสัมผัสได้อีกนอกจากเหตุผล เพียงแต่ว่าเราเรียนรู้สิ่งใหม่หรือคิดว่าเข้าใจจากสิ่งเดิม แล้วอะไรคือสิ่งเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใหน เราได้เรียนรู้แล้ว
มีเรื่องขำขันที่นำมาเรียนรู้เพื่อเป็นตัวอย่างสักสองสามเรื่อง สองสามเรื่องที่ไม่เหมือนกันในรายละเอียดแต่เหมือนกันในเป้าประสงค์ เพื่อความขำ
เรื่องแรกจูบสุดท้าย
เรื่องที่สองชายตาบอดกับช้อน
มีตัวละครสามตัว เดินเรื่องด้วยเหตุการณ์สามครั้ง ที่บ่งชี้ถึงผัสสะของชายตาบอดที่มีจมูกที่ดี รับรู้และบอกได้ด้วยการดมกลิ่น ธรรมดาที่คนที่สูญเสียผัสสะบางอย่างจะมีผัสสะบางอย่างที่ดีกว่าปกติ และสามารถใช้มันเพื่อเพิ่มศักยภาพเพิ่มเสน่ห์ ดึงดูดให้ชวนฉงนและสร้างความใคร่รู้ ในความใคร่รู้นั้นมีคำถามและการทดลอง แต่บางครั้งการทดลองก็อาจสร้างคำถามต่อไปไม่ใช่ได้คำตอบมา เรื่องราวแสดงความพิเศษนั้นและการค้นหานำไปสู่การทดลองที่สร้างคำถามเป็นการหักมุม มุมที่มีนัยยะของสัมผัสที่ต้องเคยได้รับรู้จึงบ่งบอกได้ การรับรู้ดังนั้นจึงปรุงแต่งต่อไปตามจินตนาการของแต่ละคนตามประสบการณ์ฺที่ตนมีแล้วตีความต่อไป บางครั้งความสงสัยใคร่รู้ของเรานำพาเราไปสู่คำตอบที่ไม่อยากรู้ หรือนำไปสู่ความลึกลับบางอย่าง เนื่องมาจากสิ่งทดลองที่เราใส่เข้าไปนั่นเอง เรื่องนี้มีนัยยะแห่งเพศสัมผัสที่สังคมแห่งความดีทุกสังคมปฏิเสธไม่รับรอง มันต้องอาศัยความตั้งใจละเว้นเป็นสิ่งสร้างในสังคมนั้นๆ แต่ความเป็นไปในสังคมมีสิ่งที่เป็นเพศสัมผัสที่ไม่รับรองนี้เป็นเรื่องลับเร้นอยู่คู่สังคมเสมอมา การสงสัยตั้งคำถามเป็นสิ่งที่ดีทำให้มนุษย์เรียนรู้ การทดลองเป็นสิ่งที่ดีทำให้มนุษย์ได้ค้นพบ มันอยู่ที่ว่าตั้งคำถามได้ถูกต้องสมควรเป็นประโยชน์เกื้อกูล และทดลองในสิ่งที่เหมาะสมท้าทาย ไม่หยามหลู่สิ่งที่ถามและทดลอง ความเจริญจึงนำพาโลกมนุษย์ให้เป็นไปด้วยคำถามและการทดลอง ตอนจบของเรื่องเราคงจินตนาการไปตามการรับรู้ของเรา แต่เรื่องขำขันมักจบลงเมื่อถึงตอนที่หักมุมแล้ว และมีน้อยคนที่จะจินตนาการต่อ
เรื่องสุดท้าย เจ้าพ่อ โขมย และทนาย
เรื่องเล่ามีตัวละครสามตัว เจ้าพ่อผู้มีความสามารถในการหาทรัพย์แต่ไม่รู้ว่าได้มาอย่างไรแต่มีทรัพย์มากโดยมากเรามักจินตนาการว่าได้มาโดยไม่สุจริต (เหมือนเราจินตนาการกับนักการเมืองบางประเทศ ฮา!) สมุห์บัญชีใบ้ผู้มีความสามารถในการยักยอกทรัพย์ ส่วนใหญ่เรามักเชื่อว่าสมุห์บัญชีต้องเป็นคนซื่อสัตย์ (เหมือนเราจินตนาการกับผู้คุมบัญชีของบางประเทศ) และทนายความที่สนทนากับทั้งสองคนรู้เรื่องในขณะที่ สองคนแรกคุยกันไม่รู้เรื่องทั้งๆ ที่ทำงานด้วยกันมาจนยักยอกเงินได้ตั้งสิบล้านเหรียญ เนื้อเรื่องดำเนินไปเพียงเหตุการณ์ขณะเดียวแต่เกี่ยวพันกับเจตนาไม่ละเว้นสามประการคือ เริ่มด้วยการไม่ละเว้นการเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่ละเว้นในการพยายามพรากชีวิตคน และตามด้วยการไม่ละเว้นจากคำและความเท็จ เจ้าพ่อประสงค์ทรัพย์ตนคืน สมุห์บัญชีประสงค์มีชีวิตอยู่ ทนายประสงค์ทรัพย์อันเป็นลาภที่มิควรได้ กรรมประจวบเหมาะและซับซ้อนยิ่ง หากเจ้าพ่อไม่พึ่งทนายเรื่องนี้ก็จะง่ายขึ้น แต่เมื่อนำคนอื่นเข้ามาเป็นตัวกลาง สารที่ตัองการถ่ายทอดจะแปรไปตามตัวกลาง เพราะตัวกลางที่เป็นคนมีเจตนามีเจตน์จำนงของตนที่ไม่เป็นไปตามต้องการ เพียงละเว้นการเอาของผู้อื่น การไม่ฆ่าไม่เบียดเบียน และการบิดเบือนสาร เหตุการณ์อันเป็นมุขขำขันจะไม่เกิดขึ้น
เรื่องขำขันมีแง่มุมให้เรียนรู้มากมาย ข้างบนนี้เป็นการเรียนรู้เพียงบางส่วนจากเรื่องขำขันโดยตรง ใน Social Mediaจะมี"ความคิดเห็น"ต่อท้ายซึ่งเราสามารถเรียนรู้ได้อีกว่า อารมณ์ ความรู้สึก เหตุผลของสังคมนั้นเป็นเช่นไร
คงสงสัยว่าเราจะเพลิดเพลินไปกับเรื่องขำขัน
แล้วทำไมต้องมาเรียนรู้อีกมากเรื่องมากความในความเห็นส่วนตัวของผมเห็นว่า บรรดาเรื่องขำขันส่วนใหญ่จะสร้างเรื่องราว ให้บริบท และเดินเรื่องด้วยการสนทนา ตามมาด้วยการหักมุม สังเกตุเรื่องสามเรื่องข้างต้นนะครับ ในทุกเรื่องมีคนที่ไม่สมบูรณ์ตามความหมายของสังคมที่มีความจริงดีงามเพียงหนึ่งเดียว แตกต่างจากนี้ล้วนไม่จริงดีงาม ไม่ว่าจะเป็นหญิงข้ามเพศ คนตาบอด คนใบ้ ล้วนไม่สมบูรณ์็ในสายตาของสังคมที่มีความจริงดีงามเพียงหนึ่งเดียว ดังนั้นเรื่องขำขันโดยส่วนลึกของมันประกอบสร้างการกดข่ม เย้ยหยัน และไม่ให้ความเอื้ออาทรต่อมนุษย์ มันซึมลงเบื้องล่างของจิตใจในปัจจุบัน เป็นฐานอดีตในการแสดงออกต่อไปในอนาคตอย่างไม่รู้สึกตัว มันเป็นอัตโนมัติวิสัยของการรับรู้และตอบสนอง เมื่อเราอ่านเรื่องขำขันและถอดรหัสนัยของความกดข่ม เย้ยหยัน และไม่ให้ความเอื้ออาทรต่อมนุษย์ได้ เราจะเข้าใจการไม่ตัดสิน ไม่เย้ยหยันและไม่กลัวที่จะดำเนินชีวิตอันเป็นประโยชน์ต่อไป และบางครั้งในเหตุการณ์จริงเราก็ขำขันได้ครับ แล้วความเข้าใจนั้นจะนำเราให้ขำๆ กับเรื่องต่างๆ เหมือนอ่านเรื่องขำขันอย่างไรอย่างนั้น
ผมยังมีข้อสังเกตุเกี่ยวกับเรื่องราวอื่นๆ เช่น เรื่องสร้างแรงบันดาลใจ เรื่องทุกข์เศร้า เรื่องราวเหล่านั้นเราเรียนรู้ได้โดยหลักภายในของเรา หรือประมวลเอามาเป็นหลักจากการสังเกตและพบเห็นของเรา รับรู้ภายนอก สังเกตภายใน รับรู้ทั้งจุดมุ่งหมาย ความรู้สึก และเหตุผล เราจะเชื่อมทุกสิ่งเข้าหากันได้ ความหวั่นไหว ความสงสัยหายไป มีเพียงขณะนี้ที่ดำรงอยู่อย่างนั้นเอง
ขอท่าน(Self)จงอยู่กับท่าน(self)อย่างมีความสุขครับ
หมายเหตุ ลองเปลี่ยนคำว่า "จินตนาการ" ในข้างต้นเป็น "คิดเองเออเอง" จะได้อรรถรสมากยิ่งขึ้นครับ