วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ถ้อยความแห่งรักใคร่

ผมใช้เวลาติดตามและสังเกตความเป็นไปในปัจจุบันของสังคมไทย สังคมที่มีการแปลกแยก ช่วงชิง แข่งขัน กระทบกระทั่งกันตลอดเวลา คลื่นแห่งความขัดแย้ง ความชิงชัง ถ้อยคำชักจูง (การแสดงหลักฐานเป็นการชักจูง การทำให้น่าเชื่อถือเป็นการชักจูง การกระตุ้นกิเลสในตัวมนุษย์ ให้รัก ชอบ โกรธ เกลียด แค้น และอื่นๆ เป็นการชักจูงเช่นกัน)
ความคิดของผู้คนเป็นอย่างไรหนอ ระหว่างติดตามและสังเกต ผมก็พยายามทำความเข้าใจไปพร้อมกัน ตลอดเวลาที่ผมแลกเปลี่ยนกับมนุษย์ด้วยกันนั้น ผมเชื่อมั่นเสมอในความเป็นมนุษย์ของแต่ละปัจจเจกบุคคลที่ไม่เหมือนกัน ผมแสดงทัศนะเสมอว่า ในสิ่งที่ดีก็มีสิ่งไม่ดีอยู่ ในสิ่งไม่ดีก็มีสิ่งที่ดีอยู่ มีคนถามผมว่ามันจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร ผมมักยกตัวอย่างความปรารถนาดีระหว่างมารดาและบุตร มารดาปรารถนาดีและตามใจบุตรเสมอมาในขณะเดียวกันก็บ่มเพาะความไม่พึงปรารถนาบางอย่างให้กับบุตรได้ หรือความปรารถนาดีของบุตรที่ขโมยอาหารและยามาให้มารดา สิ่งคู่กันนี้ดำรงอยู่ด้วยกันเสมอมาเป็นพื้นฐาน และความจริงที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เหมือนหน้ามือและหลังมือมาพร้อมกันแล้วแต่เราจะดูด้านใด แต่มันเชื่อมโยงกันด้วยสิ่งที่สัมผัสได้คือความรักใคร่ ความรักใคร่ที่ขับเน้นให้เราเป็นไป
ในถ้อยคำแห่งความเกลียดชัง นั้นก็มีความรักใคร่แฝงอยู่เช่นกัน เกลียดสิ่งหนึ่งเพราะรักอีกสิ่งหนึ่ง เรามักแยกมันไม่ออกมองมันไม่เห็น หากยังไม่ได้ผลตามที่เราต้องการเรามักแสดงมากขึ้น มีกิจกรรมหนึ่งที่เราใช้ในการแสดงให้เห็นการไม่ยอมรับของสังคม เราใช้ในกลุ่มใหญ่ที่มีคนประมาณ 20 คนขึ้นไป เราให้มีอาสาสมัครสักสามคน ออกไปนอกห้องแล้วมีกติกาว่าเขาต้องแสดงโดยไม่พูดให้คนอื่นทายว่าเขาแสดงเป็นอะไร เรามักใช้สัตว์สามชนิด เช่น งู ช้าง เสือ เป็นต้น แต่ผู้จัดจะรู้ว่าคนที่เข้ามาจะแสดงเป็นอะไร และจะบอกผู้อยู่ในห้องว่าห้ามทายเป็นสัตว์ชนิดนั้น คนแรกเป็นงู เราให้ทายได้ทุกอย่างยกเว้น งู เมื่อผู้แสดงเข้ามาแสดงให้ทาย เขาจะแสดงเริ่มจากคิดว่าเอาละคนต้องรู้แน่ว่าเป็นงู ชูมือ แผ่แม่เบี้ย และเมื่อยังไม่มีคนทายถูกก็จะเพิ่มความพยายามมากขึันไปอีก บางคนลงทุนเลื้อยไปกับพื้น และท้ายที่สุดเมื่อไม่มีใครทายถูกเขาก็หมดแรงและยอมแพ้ เราให้ผู้แสดงคนแรกนั่งดูในห้องและห้ามพูด คนที่สองเข้ามาและอาการก็เป็นอย่างเดียวกัน ผม(ผู้จัด)สังเกตเห็นเขาเริ่มเข้าใจบางอย่างและบางคนที่มีเมตตามากจะน้ำตาใหลสงสารเพื่อนคนที่สองถึงกับหันหลังไม่อยากดู เหตุการณ์เป็นเช่นนี้จนครบสามคน สิ่งแรกที่ทำเมื่อจบคือขอโทษอย่างจริงใจ และขอบคุณที่ได้ให่้บทเรียนที่ดีแก่กลุ่ม เราจะเห็นว่าเมื่อไม่มีการยอมรับ ความพยายามอยากให้ยอมรับจะขับเน้นการกระทำให้มากขึ้นและเมื่อถึงที่สุดก็กลายเป็นความผิดหวัง ที่นำไปสู่ความสิ้นหวังในที่สุด บทเรียนจะเป็นไปในใจของแต่ละคนโดยที่มีความคิดและประสบการณ์เป็นผู้สอน และแน่นอนมนุษย์ทุกคนต้องการการยอมรับและจะแสดงมากขึ้นในทุกๆทางที่ปัญญาที่มีส่งให้กระทำไป
ในความรักใคร่ ส่งให้คนใช้ถ้อยคำแห่งความเกลียดชังเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับความรักใคร่ของตนเอง ชักจูงให้คนเห็น หว่านล้อมให้ยอมรับ แสดงออกมากขึ้น และมากขึ้นเพื่อผลที่จะได้รับการยอมรับ ถ้อยคำแห่งความเกลียดชังจึงพรั่งพรูกันออกมา และซ่อนความรักใคร่ไว้ด้านใน เมื่อมีการรวมหมู่พวกขึ้น การเปลียนถ้อยคำแห่งความเกลียดชังอาจพัฒนาต่อไปเป็นถ้อยคำแห่งการทำลาย
ผมเห็นการชักจูงให้ทำลาย ทำลายด้วยความรักใคร่ ปรารถนาให้สิ่งไม่ปารถนาปราศนาการไป ไปจากความรักใคร่แห่งตน การทำลายสิ่งไม่ปรารถนาอย่างมีความชอบธรรมในความดีแห่งตน แต่ไม่ใช่ความชอบธรรมแห่งธรรม เพราะธรรมไม่เคยทำลายสิ่งใด ธรรมตั้งอยู่อย่างอดทน อดทนและเชื่อในผลแห่งกรรมไม่ได้เชื่อในความพยายามใช้ความดีของคน ความดีที่ทำร้ายทำลายสิ่งแตกต่าง
การดั่งนี้ พระพุทธองค์ ทรงกล่าวไว้ด้วยเห็นความเป็นไปในโอวาทปาฏิโมกข์ ว่า

๏ สพฺพปาปสฺส อกรณํ
กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ
เอตํ พุทฺธานสาสนํฯ
๏ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
การบำเพ็ญแต่ความดี
การทำจิตของตนให้ผ่องใส
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
๏ อนูปวาโท อนูปฆาโต
ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ
ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค
เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ
๏ การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย
ความสำรวมในปาติโมกข์
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร
ที่นั่งนอนอันสงัด
ความเพียรในอธิจิต
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขอให้พิจารณาในถ้อยความที่ว่า อนูปวาโท อนูปฆาโต การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย สิ่งเหล่านี้ในช่วงที่่ผ่านมา ผมเห็นและสิ้นหวังอย่างมากในความเป็นชาวพุทธของคนไทย
อนูปวาโท คือ การไม่ใช้ Hate Speech ซึ่งนำไปสู่ Crime Speech และจะนำไปสู่อาชญากรรมและการทำร้าย (Crime & Violence) ในที่สุด
เราไม่อาจยอมรับการกล่าวร้ายและการทำร้ายในฐานะของผู้สร้างได้ สิ่งนี้เป็นการทำลายอย่างแท้จริง
เราเห็นการคุกคามเพื่อให้คนเห็นคล้อยตาม เราเห็นคนที่ตัดสินคนที่ไม่เห็นด้วยว่าไม่ใช่คน เราเห็นว่ากลุ่มคนสร้างความชอบธรรม ด้วยความเชื่อมั่นในความดี คุณธรรมแห่งตน และสร้างมากขึ้นเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม การพูดชักจูงเหมือนสะกดจิต และให้ตั้งมั่นในความดี คุณธรรมแห่งตนที่ยึดถือไว้ไม่ใช่ความดีที่เป็นของทุกคน มีตรรกะที่สนับสนุนว่าคนอื่นเข้าไม่ถึงความดีที่ตนยึดถือ คนอื่นทึ่เห็นต่างจึงไม่มีคุณค่าเพียงพอที่จะมีความดี ให้น่าสงสัยในความดีเยี่ยงนี้นัก ด้วยว่าเป็นความดีที่ไม่เห็นคนมีคุณค่าทัดเทียมกัน
สิ่งที่มนุษย์พยายามเข้าถึง ความจริง ความงาม ความดี นั้น มีผู้อธิบายไว้ว่า ความจริงนั้นปวดร้าวรันทดเป็นทุกข์ ทุกข์ก็คือความจริง ความทุกข์จะบรรเทาด้วยความงาม เมื่อความงามปรากฏตนความทุกข์ที่เป็นความจริงจะถูกกลบไว้ และนั่นแหละทำให้ความดีได้เผยตัวในใจมนุษย์ มนุษย์จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ สร้างสรรค์ และทำให้โลกนี้น่าอยู่ ไม่มีการกำจัด ไม่มีการทำร้าย มีแต่ความดีที่เป็นประโยชน์ต่อสรรพสิ่ง พื้นดิน แผ่นฟ้า มหานที และไฟปรารถนาในสรรพธาตุรู้ ความดีเยี่ยงนี้เป็นความดีของทุกคน ไม่ว่าจะศึกษามาแขนงใด เพียงแต่มีความเป็นคน สัมผัสได้กับความดีเยี่ยงนี้เอง

ในถ้อยคำแห่งความเกลียดชังนั้นผมเห็นถ้อยความแห่งรักใคร่มีที่ทางของมันอยู่ มันอยู่ด้วยกันรอเวลาให้ผู้ใช้ถ้อยคำแห่งความเกลียดชังได้พบเห็น เห็นความรักใคร่ที่แฝงอยู่ เมื่อความเกลียดชังจากไป ความเมตตากรุณาเผยตนให้เห็นความรักใคร่นั้น
ถ้อยความแห่งรักใคร่จะปรากฏแก่ทุกคนได้ เพียงเพราะเราดำรงตนอยู่ที่นั่นอย่างอดทนเพียงพอ เหมือนรอให้เมล็ดพันธ์พืชได้งอกงาม ต้นสักใหญ่หลายคนโอบเดิบโตจากเมล็ดพันธ์ที่ไม่ได้โตกว่านิ้วหัวแม่มือเลย เพียงแต่ต้องการเวลา และความอดทน นั่นหมายความว่า มนุษย์ต้องมีเมตตาที่ประมาณมิได้เพื่อให้ เมล็ดพันธุ์นัืนเดิบโต
ด้วยจิตนอบน้อม
ตุ๊ดตู่ ร่าเริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น