วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2561

Change Agent & Facilitator for Innovation

Change Agent & Facilitator for Innovation 
วันที่  26 – 29 มิถุนายน 2561  ณ ศูนย์ฝึกอบรมบางปะกง

จุดมุ่งหมายของหลักสูตร ทัศนะคติ ความเชื่อ และคำมั่นสัญญา คือเป้าประสงค์
ตามนั้น เราจะสร้างทัศนะคติที่ดี ความเชื่อที่นำไปสู่คำมั่นสัญญา ต่อการจัดการความรู้ที่ต้องการ ใช้ 4 วันให้คุ้มค่า
 
4 วันที่จะ ลึกลงไปในตัวตน ขุดค้นจากอดีต รับรู้ปัจจุบัน เรียนรู้จากการงานอันเบิกบาน ที่สอดประสานแทรกเครื่องมือจัดการความรู้ เพื่อทะยานสู่เป้าหมาย ขยายกระจายอย่างมืออาชีพ บนความตระหนักรู้ว่าการแข่งขันนั้นคือชีวิตการทำงานจริง

"ความตื่นรู้ ประสบการณ์ ปัจเจกชน สมุหชน หมุนวนและเคลื่อนไป ประโยชน์ยังแก่ผู้มีสติ เรียนรู้ปรับใช้ แก่ตน องค์กร และมนุษชาติ"  
ทิพย์ พัชน์ศรี 2015

วันแรกของการพบเจอ
ผู้คนมาถึง รวมกันในห้อง อ.สำเณาว์ อ.ศากุน ชวนคุยเพื่อคุ้นเคย นำพาหัวใจทุกคนมา บันทึกความต้องการของหัวใจในด้านต่างๆ เปิดเผยแลกเปลี่ยน เชื่อมประสาน สานสนทนาก่อเกิด หัวใจทุกดวงรวมกัน ณ ที่นี้

พักทานกาแฟ
 
ผู้เข้าร่วมเข้าสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้
เราต่างมีการกระทำที่๋ผ่านมา (อดีต) เมื่อเข้าสู่ความว่าง ในพื้นที่ปลอดภัย (ปลอดภัยจากการ ข่มทับ ก่นด่า บดขยี้ กีดกัน หยุดยั้ง และปัดภาระ) ทบทวนระลึกถึง วันที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ...
เราใช้เราถ่ายทอดเครื่องมือการจัดการความรู้อย่างไร ทำอะไรมาบ้าง เครื่องมือนี้เข้ากับงานได้ไหม ถ่ายทอดให้ใครบ้าง มีความเห็นอย่างไรต่อเครื่องมือการจัดการความรู้ ปัญหา อุปสรรคมีอย่างไร ติดตามดูผลบ้างไหม ผลเป็นอย่างไร มีอะไรเปลี่ยนบ้างอย่างไร
 
เมื่อถอยไปในวันวาน สงบจิต พิจารณา ทบทวนย้อนความอยู่กับตัวเอง (3-5 นาที) เรียบเรียงเป็นภาพหรืออักษร เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนนำเสนอ คนละ 3-5 นาที 
ในระหว่างนั้นวิทยากรเรียกคืนความจำ "หันหน้าเข้าหากัน" ผู้เข้าร่วมทบทวนการสนทนาเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ 6 ประการ
เรายอมรับความเสมอภาคระหว่างกัน 
เราพยายามที่จะสนใจใคร่รู้ในเรื่องราวของผู้อื่น 
เราตระหนักว่าเราต่างต้องการความช่วยเหลือจากกันและกันเพื่อเป็นผู้ฟังที่ดีกว่าเดิม 
เราพูดคุยกันให้ช้าลงเพื่อจะมีเวลาในการขบคิดและไตร่ตรอง 
เราระลึกว่าการพูดคุยเป็นวิธีการใช้ความคิดร่วมกันอย่างเป็นธรรมชาติของมนุษย์ 
เราต้องตระหนักว่าอาจจะเกิดความสับสนวุ่นวายในการพูดคุยกันได้
 

เริ่มจากวิทยากรทั้งหลาย แล้วคลี่คลายส่งต่อไปสู่ผู้เข้าร่วม การสนทนาดำเนินไป
(ช่วงนี้ถ้ามีกำลังใจจาก รวธ. คงจะสมบูรณ์ กำลังใจในรูป VDO ประมาณ 5 นาที)
 
พักรับประทานอาหารกลางวัน 
เสริม "ผ่อนพักตระหนักรู้" พักอย่างมีสติ ตระหนักรู้ในตน เป็นการ "ลับเลื่อย" 4 มิติ กาย ใจ จิต และวิญญาน
สนุกสนานยามบ่ายเพื่อความสดชื่น แล้วเข้าสู่การเชื่อมประสานด้วยการสนทนา
 
การสนทนานำความเหมือนความต่างระหว่างกันและกัน เปิดเผยและหลอมรวม เราเข้าใจตนเองมากขึ้น เมื่อทบทวน นำเสนอ และเชื่อมต่อประสบการณ์จากหลายๆ แห่งเข้าด้วยกัน สนทนานาที่ก่อให้การเรียนรู้ร่วมกัน เกิดปัญญาร่วม ต่างคนมีบทสรุปในใจ
 
วิทยากรสะท้อนสรุปประสบการณ์ของตน ทุกนมีอิสระในการหลอมรวมประสบการณ์ จากคนเดียว สู่ทั้งหมด (ปัจเจกสุ่สมุหะ)
ระหว่างทางแห่งการแลกเปลี่ยนนี้เราเปิดเผยตัวตนมากขึ้น ด้วยกิจกรรมร่วมที่ไม่ได้แบ่งแยกและตัดสิน สนุกสนาน เปิดใจเรียนรู้ร่วมกัน
เราพักทานกาแฟแล้วสนุกสนานต่อ
 
วิทยากรชักชวนให้พิจารณาวิธีการที่เราใช้ในปฏิสัมพันธ์ มันสร้างปัญญาร่วมได้ หากเราต้องการนำไปถ่ายทอด เราต้องใช้จากพื้นฐาน ฐานจาก"สุนทรียสนทนา"
สิ่งที่น่าสนใจคือมันเกิดปัญญาร่วมได้อย่างไร สุนทรียสนทนาเสริมการสร้างปัญญาได้อย่างไร หลักการของสุนทรียสนทนาเป็นเช่นไร
เป็นโอกาสที่จะทบทวน การฟังอย่างตั้งใจ(Deep Listening) U Theory ท่าทีและการสร้างสรรค์จากการฟัง สิ่งที่ควรทำและควรระวัง
 
เราทดลองการสุนทรียสนทนา แบบกลุ่ม กลุ่มละ 6-8 คน หัวข้อสนทนาคือ "ประสบการณ์การสร้างปัญญาจากการฟัง"
การสนทนากลุ่มนี้เริ่มจากการสงบนิ่ง ทบทวนประสบการณ์็ของแต่ละบุคคล เรียบเรียง เล่าและฟัง มีผู้จดบันทึก กลุ่มทบทวน สรุปรวมเปํนของกลุ่ม สรุปเป็นภาพ(ไร้อักษร ไร้ถ้อยคำอธิบาย) กลุ่มนำเสนออย่างไม่มีคำอธิบาย พิจารณาภาพของกลุ่มอื่น ชอบ ชื่นชมแล้วอธิบายภาพนั้นจากมุมของตน ให้ประสบการผนวกกับจินตนาการ ได้ใหลผ่านการยึดโยงผ่อนคลาย เราเข้าใจความจริงได้มากขึ้น เราเห็นประสบการณ์ ความเห็นและจินตนาการ
ของแต่ละคน ใหลผ่านไปในห้วงคิดคำนึง ผ่านการยึดโยงเก่า สู่ประสบการณ์ใหม่ไร้การยึดโยง
 
ด้วยความผ่อนคลายวันทั้งวันของเราผ่านอย่างมีความสอดประสาน เต็มไปด้วยความหมาย เสริมทัศนะที่นำให้ชอบและใช้การสนทนาแบบนี้ "สุนทรียสนทนา" เพื่อถ่ายทอดต่อไปด้วยจินตนาการอันเจิดจ้าและก้าวไปอย่างมั่นคงเต็มเปี่ยมด้วยพลัง เราเข้าใจและนำไปถ่ายทอดต่อได้
 
จบวันด้วยความสุข สนุก มีสาระ  เติบโตไปอีกวันอย่างมีความหมาย
เก็บสิ่งระหว่างวันเพื่อทบทวนระหว่างคืน สดชื่นกับการเรียนรู้ เต็มอิ่มกับทัศนะที่ดีพร้อมก้าวต่อไป

วันที่สอง
เราเริ่มวันที่สองด้วยกิจกรรมสดชื่นตื่นรู้ คุ้นเคยกันมากขึ้น รู้จัก เข้าใจและประสานกันอย่างกลมกลืน อารมณ์พร้อมสำหรับการเรียนรู้
 
การจัดการความรู้มีในงานประจำ เราทำและเรียนรู้แล้วนำความรู้ไปใช้ต่อยอด ปรับให้เข้ากับเทคโนโลยี ที่ปรับเปลี่ยนไปตลอดเวลา ทำให้งานง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อ.ศากุนเล่าประสบการณ์ งานและการจัดการความรู้ที่ทำให้ศักยภาพของคนเพิ่ม เสริมให้หน่วยงานมีประสิทธภาพ มีตัวอย่างมากมาย จากการจัดการความรู้ในงาน ... จุดประกายให้ผู้เข้าร่วมได้ย้อนทบทวนสิ่งที่ทำ เห็น และคิด ไตร่ตรองในบริบทของงาน ที่แต่ละคนได้ทำผ่านมาและสอดแทรกการจัดการความรู้ไปในงานอย่างไร ในกลุ่มคนที่สังกัดสายงานผู้ช่วยผู้ว่าการเดียวกันร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เล่าสิ่งที่ตนทำ ภายใต้หัวข้อ "การจัดการความรู้ในงานประจำ" สรุปเสนอในแต่ละสายงาน นำเสนอให้กลุ่มใหญ่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสนใจใคร่รู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทางอ้อม ทบทวนประสบการณ์ทางตรง
 
เราพักรับประทานอาหารแล้ว ผ่อนพักตระหนักรู้ เพื่อความสดชื่นในตอนบ่าย
ตอนบ่ายเราขยายการเรียนรู้ จากการทำงานในสายงาน การประสานทำงานส่งต่อระหว่างสายงานผู้ช่วย เรามีงานที่หลอมรวมกันเป็น รวธ.  เรามีงานที่เกี่ยวข้องกัน ในงานร่วมกันนั้น เมื่อเราทำเราสอดแทรก และจัดการความรู้ในงาน เราจัดการความรู้สึกสานสัมพันธ์กันและกัน มุ่งไปในทางเดียวกัน แต่ละคนในแต่ละหน่วยงานตระหนักถึงการจัดการความรู้สึกตัวของตนเอง เราจึงกลมกลืนและสร้างพลังแห่งประสิทธิภาพไปด้วยกัน
 
เราทบทวนแล้วเปิดเผย(นำเสนอ)ให้กันและกันได้พบความรู้ สัมผัสความรู้สึก ด้วยความรู้สึกตัวที่สอดประสานสัมพันธ์กัน
แลกเปลี่ยนกันใน "การจัดการความรู้ระหว่างสายงาน ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ใน รวธ."
วิทยากรทั้งหลายร่วมเล่าประสบการณ์ "การจัดการความรู้ในการทำงาน" เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเป็นการยืนยัน และเสริมแรงจากประสบการณ์ตรง กระตุ้นให้ตระหนักรู้ เราแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสนุกสนาน
 
เราจบวันที่สองอย่างมีพลัง เรียนรู้เพื่อจะนำไปเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไม่มีวันจบ

วันที่สาม
สองวันที่ผ่านมาเราตระหนักรู้ในตน ขุดค้น คืนคุณค่า จากอดีต สัมผัสการงานอันเบิกบานที่มีความรู้ การจัดการความรู้ การจัดการความรู้สึก และการจัดการความรู้สึกตัว เราพร้อมที่จะทะยานสู่เป้าหมาย
 
เป้าหมายของเราคือ ผู้คนที่ทำงานด้วยความรู้ เป็นธรรมดาที่คนจะมีหลากหลาย เปิดใจ ปิดใจ อ่อนน้อม หยิ่งทะนง  ฯลฯ แต่ละคนล้วนเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่มีใครเหมือน และทุกคนจะนำพาองค์กรนี้สู่เป้าหมาย
เมื่อตระหนักรู้ดังนั้น เราเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้สนับสนุนให้การจัดการความรู้งอกงามในหน่วยงาน เราจะสานสัมพันธ์กับเขาเหล่านั้น ทรัพยากรอันทรงคุณค่า สัมพันธ์อย่างไรให้เขาได้รับรู้ ได้ใช้เครื่องมืออันทรงพลัง ด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่แบกเครื่องมือนั้นไว้ และถ่วงการทำงานของเขา เราจะถ่ายทอดอย่างไร เพื่อจะจัดการความรู้ ความรู้สึกและความรู้สึกตัวไปพร้อมกับการทำงาน
 
อ.ศากุน เล่าประสบการณ์ ให้ความเห็น และแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าอบรม เมื่อเจอกระทิง หนู อินทรี หมี จะทำอย่างไร อะไรที่ต้องฝึกฝน สะสมให้กล้าแกร่ง (ช่วงนี้จินตนาการแทน อ.ศากุน)
 
ช่วงครึ่งวันหลัง เราแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยวิทยากรร่วมให้ประสบการณ์ การนำผู้คน มารวมกัน การออกแบบเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การจัดเวทีถ่ายทอด การบันทึกเก็บความรู้ แะอื่นๆ จากประสบการณ์ตรง ของวิทยากร
 
เราสนทนาเพื่อสร้างปัญญาร่วม เป็นต้นทุนในการออกแบบประยุกต์ใช้การจัดการความรู้ในหน่วยงาน
เพื่อความชัดเจนเราสนทนากลุ่ม 6 - 8 คน เพื่อ "ออกแบบและประยุกต์ใช้การจัดการความรู้" ทำไปทำไม ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร โดยใคร อย่างไร
 
เราตกผลึกร่วมกัน สร้างภาพ ภาพโครงการที่เป็นภาพไร้ตัวอักษร สื่อสิ่งที่เราปรารถนา ภาพหนึ่งภาพแทนถ้อยคำได้หมื่นคำ ชื่นชมภาพใด กลุ่มของเราจะอธิบายภาพของเขาเหล่านั้นด้วยจินตนาการของเรา
 
เราจบวันอย่างมีความสุข เห็นการเชื่อมโยงการประยุกต์ใช้ หลายๆ ภาพเราเชื่อมั่นในการทะยานสู่เป้าหมาย เรามีทางเดินสู่เป้าหมายอันสามารถเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ได้ อย่างมั่นใจ เราเรียนรู้ระหว่างวัน ทบทวนระหว่างคืน เพื่อเติบโตต่อไป

วันที่สี่
เราพร้อม สดชื่นตื่นรู้ เพื่อรับแนวทางและกลยุทธ์ในการสร้างนวัตกรรม เราพร้อมเก็บเกี่ยวเพื่อเข้าสู่การแข่งขันบนลู่วิ่งแห่งนวัตกรรม เรารู้เขารู้เรา(กลยุทธ์)บนการแข่งขันนั้น เต็มอิ่มกับกลยุทธ์ที่รับทราบ และพร้อมในสนามแข่ง
เราพักรับประทานอาหาร แล้วมาสรุปการเรียนรู้ "จบเพื่อเริ่ม" จบจากสนามซ้อมเข้าสู่สนามจริงที่ไม่มีวันจบสิ้นตราบที่ยังอยู่ในองค์กร ภารกิจยังคงมีอยู่
เราสัญญาว่า จะทำเต็มกำลังความสามารถ ทุ่มเทเวลาและทรัพยากร เพื่อก้าวไปบนเส้นทางนี้ เราจะใช้ความรู้ ประสานความรู้สึก และตระหนักในความรู้สึกตัวอย่างมีพลัง

จบจินตนาการเพียงเท่านี้
มันจะเป็นจริงเมื่อได้ทำ ทำตามที่แสดงไว้ แสดงจากความคิด ความคิดที่ได้จากการเห็น เห็นหัวข้อที่ทำมา
และมันจะเป็นจริงได้ยิ่งกว่า หากทุกท่านได้ร่วมกันสร้างปัญญาร่วม ให้ความเห็น เสนอแนะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้
ด้วยความรู้ เท่าที่มี ด้วยความรู้สึก ยินดีที่จะประสานสัมพันธ์ ด้วยความรู้สึกตัว ที่จะทุ่มเทความสามารถ
เท่านี้คือสิ่งที่ทำแล้ว ทำแล้วย่อมดีเสมอ

ด้วยจิตนอบน้อม
ตุ๊ดตู่ ร่าเริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น