วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

KM Trainer june 26-29,2018

บันทึกหลังการอบรม KM Trainer สายงาน รวธ. 
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ระหว่าง วันที่  26 – 29 มิถุนายน 2561  
ณ ศูนย์ฝึกอบรมบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

เดิมได้รับแจ้ง email สิ่งแนบ เป็น CA & FA ... Rev07
แต่ในหลักสูตรเป็น KM Trainer 


คณะวิทยากร
วิทยากรภายนอก 1.นายศิริวัฒน์ เก็งธรรม 2.นายสำเนา จุมพุก
วิทยากร รวธ. กฟผ. 3.นายบุญเสริม แจ้งอรุณ 4.นางศากุน ปิติไกรสร 5.นายรัฐภูมิ  ขำศิริ   
วิทยากร โรงไฟฟ้าบางปะกง กฟผ. 6.นายอนุรุธ กฤษวงศ์ 7.นางสาวแจ่มแข ภักดีคำ 8.นายพิชิต ซวดทอง 9.นายสำราญ จรรยา
วิทยากร ผู้ช่วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ. 10.นายภัคภู แก้วเกรียงไกร 11.นางสาวภัทรฤดี รัตนปริคณน์

ผู้เข้าอบรม ผู้ปฏิบัติงาน รวธ. จำนวน 20 คน

1.โอ๊ต หม้อน้ำ 2.โม นะวะ 3.แมน NDT 4.ติ๊ก ชอบช๊อป 5.มิ๊ม Twin 6.สุทีป อคบร 7.ปุย ลุงปุย 8.เปียกปูน ตัวแถม 9.จ๋า กินเด็ก 10.เหมี่ยว มะเม่ง 11.บอย เบิกบาน 12.ดำ บอยอ 13.เผ่า หัวหน้าเผ่า 14.หงษ์ กังหัน 15.หมิว หิวตลอด 16.น้ำหวาน ทานทุกอย่าง 17. ยี่หวา ลาไปกิน 18.เต๋า พัทยา 19.บัติ อัมพวา 20.เอ็ม อะหลั่ย

ผู้ดำเนินการ คอน-ธ. รวธ กฟผ.

วัตถุประสงค์การอบรม
มีทัศนะคติที่ดี เชื่อมั่นและมุ่งมั่นในการใช้เครื่องมือ KM ในการทำงาน รวมถึงการเป็นวิทยากรถ่ายทอดในหน่วยงานต่อไป

วันที่ 26 มิถุนายน 2561 วันแรกของการอบรม


 
เริ่มการอบรม 10:00 น. อ.ศากุนและอ.สำเณาว์ Check In ผู้เข้าอบรมด้วยหัวใจ 4 ห้อง เพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคยและสอบถามวัตถุประสงค์การมารับการอบรม ด้วยการตั้งชื่อฉายา ทำให้ทราบว่าผู้เคยเข้าอบรมหลักสูตร CA-Fa. for Innovation ที่เป็นผู้อบรมเป้าหมายมีเพียง 7 คนจากจำนวน 19 คน (มีตามมาภายหลังอีกหนึ่งคน เคยเข้าอบรมแล้ว) เราทำกิจกรรมละลายพฤติกรรมเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยระหว่างกัน จากนั้นได้ให้ผู้เข้าอบรมได้เล่าเรื่องประสบการณ์ของตนเองในการปฏิบัติงานและใช้เครื่องมือการจัดการความรู้ BAR AAR และ SST ทุกคนเล่าได้สนุกสนาน สนใจใฝ่รู้ ทำให้รู้จักงานของกันและกันมากขึ้น ในระหว่างนั้นผู้เข้าอบรมได้ฟังกำลังใจจาก รวธ. เป็น VDO สั้นประมาณ 3 นาที ที่พูดถึง นวัตกรรมและการขับเคลื่อนในหน่วยงาน เราพักรับประทานอาหารเมื่อ 12:00 น. (หมายเหตุ เวลาอาจคลาดเคลื่อนเล็กน้อยซึ่งไม่เป็นประเด็นสำคัญ)
ระหว่างพักวิทยากรได้ปรึกษาเพื่อปรับกระบวนการอบรมให้มีประโยชน์กับผู้เข้ารับการอบรมที่มีความแตกต่างกันทั้งอายุงาน อายุตัว วิชาชีพ และพื้นฐานความรู้ในการจัดการความรู้เป็นต้น (มีตั้งแต่อายุงานไม่ถึง 1 ปี จนถึงอายุงานเหลือ 1 ปี 3 เดือน อายุตัว 25 ปี ถึง 59 ปี ลักษณะงานอาชีพ ด้านช่าง งานบริการ และงานเอกสาร เคยอบรมและใช้เครื่องมือ KM ต่างกันเป็นต้น) โดยการปรับคำนึงถึงวัตถุประสงค์การอบรมเดิมคือให้มีทัศนะคติที่ดี เชื่อมั่นและมุ่งมั่นในการใช้เครื่องมือ KM ในการทำงานรวมถึงการถ่ายทอดในหน่วยงานต่อไป
ช่วงบ่ายเราเริ่มด้วยการสดชื่นตื่นรู้แล้ววิทยากรนำผู้เข้าอบรมสัมผัสกับหลักการพื้นฐานของการหันหน้าเข้าหากัน 6 ประการ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ปราศจาก 6 บ.(เบรก เบลม บี้ เบิ้ล ใบ้ และโบ้ย) การหมุนวนของ Tacit Knowledge สู่ Explicit Knowledge ด้วยแนวคิด SECI Model (Socialization Externalization combination & Internalization) จนกระทั่งหมุนวนเป็นเกลียวความรู้ยกระดับไปอย่างไม่รู้จบบนพื้นที่ปลอดภัย
เราคุยกันในสายงานผู้ช่วยผู้ว่าการเดียวกัน ทดลองการสนทนาที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ ด้วยความคิดที่ว่าการสนทนาเป็นวิถีทางที่มนุษย์ใช้คิดร่วมกัน
เราต่อด้วยสุนทรียสนทนา การฟังอย่างตั้งใจ การไม่ตัดสิน การเปิดพื้นที่ และการฟังเสียงภายในตน ผนวกกับ U Theory ในการระวังเสียงของการตัดสินจากความคิด การระวังเสียงของความรังเกียจเหยียดหยามจากความรู้สึกในใจ และระวังความกลัวที่จะปิดกั้นเจตจำนงของเรา เราเว้นระยะ "เปิดรับสิ่งใหม่ ด้วยใจเป็นกลาง สร้างผลงานทันที" เราทดลองกิจกรรมกลุ่มแบ่งผู้เข้าอบรมเป็นสามกลุ่ม สนทนา"ประสบการณ์การสร้างปัญญาจากการฟัง"ของแต่ละคนในกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วหลอมรวมนำเสนอเป็นรูปภาพ ชื่นชมภาพของกันและกัน เลือกภาพของกลุ่มอื่นที่เราชอบแล้วอธิบายภาพนั้นผ่านประสบการณ์ของเรา ภาพที่สื่อออกมาไร้ถ้อยคำ เมื่อเราอธิบายภาพของผู้อื่นและรับรู้การอธิบายภาพของเราจากผู้อื่น เราเข้าใจและเรียนรู้ได้ ภาพหนึ่งภาพแทนคำพูดหลายคำ เมื่อกระทบกับประสบการณ์ภายใน คำอธิบายที่เกิดขึ้นจึงมาจากการตีความ เราอธิบายสิ่งที่เห็นจากประสบการณ์ภายในของเรา หากเชื่อมต่อกันได้ความเข้าใจไปในทางเดียวกันเราจบวันแรกเพื่อเรียนรู้ในวันต่อไป
ในระหว่างวันเราแทรกกิจกรรมสดชื่นตื่นรู้เป็นระยะ



วันที่ 27 มิถุนายน 2561 วันที่สองของการอบรม
เราเริ่มด้วยกิจกรรมสัมพันธ์อันนำไปสู่ความสดชื่นตื่นรู้ ขยับแขนขา ออกกำลัง มีปฏิสัมพันธ์กันและกันอย่างสนุกสนานเพื่อเรียกวัยเยาว์มาเป็นกำลัง ความเอื้ออาทร ความสนุกสนานนำความสนิทสนมมาสู่กลุ่ม
วันนี้เรามีวิทยากรจากโรงไฟฟ้าบางปะกง 2 คนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ คนหนึ่งทำงานเดินเครื่องโรงไฟฟ้า วศ.อนุรุธ เป็นวิทยากร KM มาตั้งแต่ปี 2551 อีกคนเป็นคณะทำงานพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ ชฟฟ.3 (คพร-ช3) คุณแจ่มแข วิทยากร KM ทั้งสองได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ การสอน และการขับเคลื่อน KM ในโรงไฟฟ้าบางปะกง ประสบการณ์อันยาวนานในการทำความรู้จัก เข้าใจ นำไปใช้และถ่ายทอด เต็มไปด้วย ความเมตตา อดทน พยายาม ต่อด้วยประสบการณ์จากวิทยากร KM โรงไฟฟ้าพลังน้ำคุณภัคภู ที่ใช้และถ่ายทอดในสายงาน ปิดท้ายประสบการณ์จาก  วิทยากรจาก ชธธ. วศ.รัตภูมิ ซึ่งถ่ายทอดได้ชัดเจนสนุกสนาน ตอนท้าย วศ.รัตภูมิสอบถามใครจะนำเครื่องมือนี้ไปใช้บ้าง ผู้เข้าอบรมทุกคนยกมือ เราจบครึ่งวันแรกด้วยประสบการณ์การใช้และถ่ายทอดเครื่องมือ KM ใน กฟผ.
ช่วงบ่าย เรากลับมาสู่เครื่องมือการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปด้วยดี รู้เรา รู้เขา รู้จักคนในรูปแบบผู้นำสี่ทิศ กระทิง อินทรี หนู หมี แนะนำให้ผู้เข้าอบรมได้รู้จักและเลือกว่าตัวเราเป็นประเภทใด มีผู้เลือกเป็นอินทรี 2 คน เป็นหนู 13 คน และอีก 5 คนเป็นหมี เราทำความเข้าใจตนเองและผู้อื่น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงที่เคยพบผู้คนแบบต่างๆ แล้วสรุปว่าเราจะปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นให้ราบรื่นอย่างไร นำเสนอแลกเปลี่ยนกันเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความสัมพันธ์บนความรู้สึกที่ดีต่อกัน
หลังจากนั้นวิทยากรนำเสนอความคิด 6 แบบ เพื่อแยกแยะความคิดในการสนทนาร่วมกันเป็นแนวทางระหว่าง ความจริงกับความรู้สึก ความดำมืดอันตรายกับความสดใสสร้างสรรค์ ความคิดนอกกรอบหลุดกรอบกับการสรุปที่นำไปสู่การนำไปปฏิบัติได้ กรอบแนวคิดนี้ทำให้เราประสานคนนิสัยแตกต่างกัน คิดแตกต่างกัน ได้อย่างเข้าใจและตระหนักว่าความสัมพันธ์อันดีนำมาซึ่งการถ่ายทอดความรู้และการจัดการความรู้ การจัดการความรู้สึกในการเรียนรู้ร่วมกันนำไปสู่การจัดการความรู้ขององค์กร ความรู้สึกที่ดีต่อกันมาจากความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายของผู้คน พื้นฐานมาจากการจัดการความรู้สึกตัวของคนทำงานที่มีความรู้อยู่ในตนผู้ทำงานร่วมกัน การจัดการความรู้จึงเนียนในเนื้องานได้ เราจบวันเพื่อเรียนรู้ต่อ
ไป




วันที่ 28 มิถุนายน 2561 วันที่สามของการอบรม
เราเริ่มวันด้วยกิจกรรมสดชื่นตื่นรู้ อันเป็นฐานกาย ฐานใจ เพื่อสร้างความเข้มแข็งต่อฐานคิดจากกิจกรรมเล่นและเรียนอันออกแบบได้อย่างชาญฉลาดแนบเนียนโดย อ.สำเณาว์
วันนี้เรามีวิทยากร KM ที่เป็น CA&Fa จากโรงไฟฟ้าบางปะกง ที่นำประสบการณ์ การใช้และถ่ายทอด KM ทั้งในและนอกหน่วยงานมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีก 2 คน วศ.พิชิตและ วศ.สำราญ ทั้งสองคนใช้และสอน KM ในหน่วยงานตนเริ่มตั้งแต่ในปี 2549 รู้จัก ถึงปี 2551 เข้าใจ นำไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน จนประสบผลที่ดี เจ้าของ KM สคส. ยังมาดูงาน ดูความเจริญเติบโตของเมล็ดพันธ์งอกงามอย่างงดงาม โรงไฟฟ้าบางปะกงเป็นแหล่งเรียนรู้ KM ให้แก่หน่วยงานภายนอก รวมทั้งไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานข้างนอกอีกหลายหน่วยงาน ผู้เข้าอบรมสนทนาซักถามจนถึงเวลาอาหารกลางวัน
ตอนบ่ายวิทยากรแสดงเส้นทางกว่าจะเป็นวิทยากร KM ของโรงไฟฟ้าบางปะกงได้ผ่านหลักสูตร ต่างๆ คือ ในช่วงแรกเพื่อทำความรู้จักเครื่องมือ ได้เข้าอบรม KM Concept and Tool ทำความเข้าใจในแผนขับเคลื่อน อบรมหลักสูตร Outcome Mapping เพื่อวางแผนขับเคลื่อน อบรม KM Trainer, คุณอำนวย, Change Agent and Facilitator แล้วนำไปใช้ในหน่วยงานตน ระหว่างนั้น ได้เข้าอบรม หลักสูตร ทบทวน KM Trainer หลักสูตรยกระดับ KM Trainer ทั้งนี้มีคณะขับเคลื่อนและผู้บริหารทุกระดับให้การสนับสนุน
วิทยากรชักชวนผู้เข้าอบรมได้รวบรวมประสบการณ์และการเรียนรู้ที่ผ่านมาเพื่อออกแบบการใช้ KM ในหน่วยงานตนโดยตอบคำถาม ทำไปทำไม ทำอะไร ทำที่ไหน ทำเมื่อไร ทำกับใครหรือโดยใคร ทำอย่างไร โดยแบ่งผู้เข้ารับการอบรมเป็น 3 กลุ่ม วิธีการได้มาซึ่งคำตอบให้ใช้สุนทรียสนทนา เล่าประสบการณ์ ให้ความเห็น ในกลุ่มมีคุณอำนวยและคุณลิขิต ทุกคนเป็นคุณกิจ จากถ้อยคำประสบการณ์และความเห็นให้สรุปเป็นรูปภาพรูปที่เราเข้าใจและสร้างสรรค์ นำเสนอให้กลุ่มอื่นเลือก กลุ่มเลือกภาพผู้อื่นเพื่ออธิบายจาการตีความของตน หลังจากอธิบายภาพกลุ่มอื่นเสร็จครบทุกกลุ่ม กลุ่มเจ้าของภาพจะเริ่มอธิบายความหมายของภาพตน การตีความไม่มีถูกผิดเป็นการรับรู้ของผู้ดู คำอธิบายเป็นของผู้สร้าง ทุกกลุ่มเข้าใจมุมมองของกันและกัน วิทยากรถามทุกกลุ่มว่า เราเชื่อว่า "นวัตกรรม" เกิดขึ้นได้เมื่อเราใช้เครื่องมือจัดการความรู้ ดังนั้นในแต่ละกลุ่มคิดว่า "นวัตกรรม" เกิดขึ้นที่ไหน อยู่ที่ใดในรูป แต่ละกลุ่มแลกเปลี่ยนและนำเสนอการปรากฏของ "นวัตกรรม" ในรูปตน วิทยากรพาเข้าสู่จุดหลอมรวมเป็นหนี่งเดียว ให้นำภาพของสามกลุ่มมารวมกัน ให้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวของความคิดด้วยเครื่องมือสุนทรียสนทนา ล้อมกันเป็นวงกลมวงใหญ่เป็นวงเดียว ภาพทั้งสามอยู่ตรงกลาง แต่ละคนนำเสนอความคิดของตนเกี่ยวกับภาพที่สื่อถึงกระบวนการ KM การหลอมรวมและการเกิดของ "นวัตกรรม" ผู้อ่อนอาวุโสนำเสนอก่อนไล่ไปจนครบทุกคน มีคุณลิขิตสองคนเป็นผู้จดบันทึกความคิด วิทยากรขอให้คุณลิขิตได้สรุปความเห็นทั้งหมดใน 5 ประโยค คุณลิขิตทั้งสอง สรุปแล้วจากนั้นกลุ่มดำเนินการต่อภาพเสร็จแล้วนำเสนอสรุปร่วมกัน เพื่อความเข้าใจตรงกัน เราจบวันด้วยการตระหนักรู้ว่าจะทำไปทำไม ทำอะไร ทำที่ไหน ทำเมื่อไร ทำกับใครหรือโดยใคร และทำอย่างไร รู้ว่าจะทำสิ่งใดในส่วนของเราเพื่อไปให้ถึงภาพฝันของเรา จบวันที่สาม



วันที่ 29 มิถุนายน 2561 วันสุดท้ายของการอบรม
เราเริ่มวันด้วยสดชื่นตื่นรู้เพื่อเติมความรู้เกี่ยวกับ นวัตกรรม โดย วศ.บุญเสริม (ช.อบฟ-ว.) เพลิดเพลินกันการนำเสนอนวัตกรรม จักรยาน และความรู้เกี่ยวกับการเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมจบครึ่งวันแรกอย่างมีพลังแห่งนวัตกรรมหนุนเสริมขับเคลื่อนไป
แล้วเวลาจากกันก็มาถึง ตอนบ่ายเราเริ่มด้วยการถอดบทเรียนรู้ ทำความเข้าใจวงจรการไม่เรียนรู้เพื่อจะเรียนรู้และถอดบทเรียน เราเห็นในสิ่งที่เราทำ เราคิดจากสิ่งที่เราเห็น เราพูดในสิ่งที่เราคิด และเราทำตามที่เราพูด เรารู้ว่าเราไม่รู้อะไร และเริ่มค้นคว้าควักเพื่อเรียนรู้ บางสิ่งเปลี่ยนไปนั่นคือเราเรียนรู้บางสิ่ง
วิทยากรสอบถาม ใครมั่นใจว่าตนจะนำไปใช้และถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้ มีผู้ตอบรับ 5 ราย ใครจะนำไป เปลี่ยนแปลง หรือสนับสนุน ในหน่วยงานตนมีผู้ตอบรับ 10 ราย ที่เหลือจะนำไปใช้ในงานและหน่วยงานตน เราจบการอบรมด้วยการนำหัวใจที่เขียนไว้มาตรวจสอบว่าได้ตามวัตถุประสงค์ที่แต่ละคนตั้งไว้หรือไม่ แล้วกล่าววลีสั้นๆเพื่อลาจากคนละ 1 วลี การอบรมจบอย่างง่ายๆ ด้วยประการฉะนี้

สิ่งที่บรรลุจินตนาการ
1. ผู้เข้าอบรมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการใช้เครื่องมือ KM ในงานของตน
2. ผู้เข้าอบรมรู้จักเครื่องมือพื้นฐานในการสนทนาที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ ทั้งหันหน้าเข้าหากัน สุนทรียสนทนา บนพื้นที่ปลอดภัย
3. ผู้เข้าอบรมรู้จักเครื่องมือพื้นฐานในการปฏิสัมพันธ์ คน 4 ทิศ คิด 6 แบบ
4. ผู้เข้าอบรมได้รับประสบการณ์การรู้จัก เข้าใจ นำไปใช้ และถ่ายทอด เครื่องมือ KM
5. ผู้เข้าอบรมได้ออกแบบการใช้เครื่องมือ KM จนถึงเข้าใจการเกิดนวัตกรรม
6. ผู้เข้าอบรมได้เข้าใจการถอดบทเรียนรู้
7. ผู้เข้าอบรมมีทัศนะคติที่ดีต่อเครื่องมือ KM จะนำไปถ่ายทอด 5 ราย

สิ่งที่ไม่บรรลุจินตนาการ
1. ออกแบบการสนทนาไว้ 7 ครั้ง นำการสนทนาได้เพียง 5 ครั้ง
2. ผู้เข้าอบรมอีก 15 รายคิดว่าไม่ถ่ายทอดเครื่องมือ KM แต่จะนำไปใช้
3. การสนทนาของผู้เข้าอบรมยังไม่เข้าถึงภาวะสุนทรียสนทนา แม้ว่าจะมีวิทยากรช่วยเหลือ

สิ่งที่ทำได้ดี
1. การปรับเอาประสบการณ์ในหน้างาน การถ่ายทอด การประยุกต์ให้เนียนในเนื้องาน โดยให้วิทยากรที่มีประสบการณ์ตรงเป็นผู้ถ่ายทอดในเวลาที่เหมาะสม
2. การควบคุมเวลาในการอบรม
3. การใช้กิจกรรมมากระตุ้นให้ตื่นตัวในแต่ละช่วงการอบรม



สิ่งที่ต้องปรับปรุง
1. การออกแบบการสนทนา ต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ เริ่มจากการสนทนาระหว่างบุคคล สองคน แล้วเพิ่มเป็นสี่คน ต่อด้วยสนทนากลุ่มประมาณ 6-8 คน จบที่การสนทนากลุ่มใหญ่(ทั้งหมด) หัวข้อการสนทนาต้องชัดเจนและชวนให้สนทนาจากประสบการณ์ โดยพิจารณาจากผู้เข้าอบรม วิธีการสนทนาต้องนำเสนอให้เป็นที่เข้าใจก่อนการสนทนา และก่อนการสนทนาต้องให้ผู้เข้าอบรมหยุดกิจกรรมความคิด ให้สงบโดยการหยุดผู้เข้าอบรมด้วยการให้เงียบและอยู่กับตนเอง พิจารณาหัวข้อการสนทนาประมาณ 1-2 นาที จำนวนครั้งที่เหมาะสมประมาณ 7 ครั้ง
2. การสร้างให้ผู้เข้าอบรมเป็นผูุ้่ถ่ายทอดต้องให้ตัวอย่างของ การรู้จัก เข้าใจ นำไปใช้ แล้วถ่ายทอด และเป็นไปตามแรงปรารถนาของผู้เข้าอบรม วิทยากรต้องกระตุ้นความเชื่อมั่นและแรงปรารถนาด้วยตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรม ความสำเร็จจากที่ต่างๆ รวมทั้งแนะนำเครื่องมือการเรียนรู้ด้วยตนเอง แหล่งความรู้ เอกสารและบุคคลอ้างอิงเพื่อให้สามารถไปค้น คว้า ควักนำมาถ่ายทอดได้
3. การนำกิจกรรการสนทนาเพื่อให้เข้าสู่ภาวะสุนทรียสนทนาต้องมีการเน้นย้ำหลักการการหันหน้าเข้าหากัน สุนทรียสนทนา และสร้างความตระหนักรู้ตัวตนของผู้สนทนา โดยการทบทวนก่อนการสนทนาทุกครั้งและกระตุ้นให้สมาชิกผู้ร่วมสนทนาได้ช่วยเหลือซึ่งกันและ
กัน




บทเรียนรู้
การเรียนรู้จะไม่เกิดขึ้นเมื่อเราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร แต่จะเกิดขึ้นเมื่อเรารู้ว่าเราไม่รู้อะไร และเราสนใจใคร่เรียนรู้

ความเป็นมืออาชีพเมื่อเผชิญกับสิ่งแทรกแซงสติและปัญญา ยังไม่พอต้องมีความพยายามและอดทน สำคัญที่สุดคือใจต้องเย็นพอ

บันทึกโดย ตุ๊ดตู่ ร่าเริง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น